ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่
ต้องสนใจความเคลื่อนไหวของโลกออนไลน์

……..ในยุคสังคมดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างฉับพลัน (Digital Disruption) และได้กลายเป็นตัวหลักในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งวัฒนธรรม สังคม ธุรกิจ เศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์การหลอมรวมสื่อ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการสื่อสารในภาพรวมมากขึ้น จนผู้คนในสังคมสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ ทำให้ทุกคนสามารถให้ความเห็นและข้อเท็จจริงได้อย่างทันที และไร้การควบคุมบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งพัฒนามาเป็น ‘เครือข่ายทางสังคมออนไลน์’ โดยส่งผลให้ภูมิทัศน์สื่อแปรเปลี่ยนไป จนส่งผลให้บุคคล องค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้ เพื่อเข้าใจ เข้าถึง โดยเฉพาะการบริหารชื่อเสียงด้านเชิงบวก และผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤติในโลกออนไลน์มากขึ้น

……..ในแง่โอกาสการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์นั้น นับเป็นช่องทางในการสร้างการรับรู้ได้รวดเร็ว สามารถเพิ่มชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักรวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือโดยไม่จำเป็นต้องให้น้ำหนักกับสื่อเก่า หรือสื่อแบบดั้งเดิมที่มีอิทธิพลสูงแต่เพียงอย่างเดียว

……..ขณะเดียวกันในมิติเชิงผลกระทบด้านลบที่สามารถเกิดขึ้นได้ คือภาวะวิกฤตด้านชื่อเสียง เช่น การถูกกล่าวหาผ่านโลกออนไลน์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรเลย

……..จากเหตุผลดังกล่าวจึงขอหยิบยกการวิเคราะห์ผ่านกรณีศึกษา ME TOO ซึ่งทำให้สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่จนสามารถ กดทับเพศหญิงที่ถูกละเมิดในมิติต่าง ๆ กลายมาเป็นผู้หญิงมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น เพราะเครื่องมือในการสื่อสารผ่านโลกดิจิทัลกับ Hashtag #METOO

กระแส #METOO
และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

……..ในปี ค.ศ.2007 กระแส #METOO ได้ถือกำเนิดขึ้นโดย ชาวอเมริกันชื่อ ทารานา เบิร์ก ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่คิดริเริ่มทำโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงผิวสีที่ถูกคุกคามทางเพศเนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รัฐไม่ได้ให้ความสนใจและไม่ส่งความช่วยเหลือมาให้ส่วนคำว่า ‘ME TOO’ นั้นมีที่มาจากการที่ทารานาได้ฟังเรื่องราวเลวร้ายของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทารานาได้คิดในใจว่า ‘ME TOO’ หรือ ‘ฉันก็เหมือนกัน’ เพราะเธอก็มีประสบการณ์ที่เลวร้ายไม่ต่างจากเด็กหญิงคนนั้น ซึ่ง “นี่ไม่ใช่แคมเปญที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นไวรัลแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นวลีของผู้รอดชีวิตใช้กับผู้รอดชีวิตด้วยกัน เพื่อให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้อยู่เดียวดาย และเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้น” ทารานากล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการ #METOO

……..ต่อมาในปี 2017 #METOO กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อ ‘อลิสซา มิลาโน ’ นักแสดงหญิง ชาวอเมริกันวัย 45 ปี ได้แชร์ เรื่องราวนี้ผ่านทางทวิตเตอร์โดยเธอ ได้ทวีตข้อความว่า “หากคุณเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศให้เขียนคำว่า #METOO เพื่อตอบรับทวีตนี้” ผลปรากฏว่ามีคนจำนวนนับล้านกว่าหลายสิบประเทศทั่วโลก รวมไปถึงนักร้องและเซเลบชื่อดังอย่าง เลดี้ กาก้า , อเมริกา เฟอร์เรรา , โรส แมคโกแวน , อีวาน ราเชล วูด , แกเบรียล ยูเนียน และคนอื่น ๆ อีกมากมายต่างพากันแชร์ข้อความต่อ ๆ ไปจนกลายเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมา โดยทวิตเตอร์ได้ให้ข้อมูลกับสถานีโทรทัศน์ซีบี เอสว่ามีการทวีตข้อความพร้อมแฮชแท็ก #METOO กว่า 1.7 ล้านข้อความ และมี 85 ประเทศทั่วโลกที่มีการทวีตแฮชแท็กนี้ด้วย

……..นอกจากนี้ Castells อธิบายว่า การสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบที่เกิดขึ้นทำให้การสื่อสารมวลชนบุคคลกลายเป็น การสื่อสารจากบุคคลไปยังมวลชน อันเป็นผลจากเทคโนโลยี สารสนเทศและการผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งในอดีตการเชื่อมต่อ รวมตัวหรือการปลุกระดมเชิญชวนให้คนออกมาเคลื่อนไหว ประเด็นสาธารณะ ต่างต้องพึ่งพาการสื่อสารทั้งนั้น แต่สำหรับในสังคมออนไลน์การเข้าสังคมชุมนุมพบปะไม่จําเป็นต้องเลือกเวลา สถานที่ชุมชน และอัตลักษณ์ที่ตายตัวเช่นนั้น เพราะพื้นที่สังคมออนไลน์ถูกประกอบสร้างขึ้นตามสภาวะของสังคมข้อมูลข่าวสาร และบนพื้นที่ไซเบอร์โดยมีการเปิดช่องทางให้สะท้อนทิศททางร่วมกันในการแสดงตัวตนรวมถึงสะท้อนความคาดหวังต่อจุดมุ่งหมายของสังคมผ่าน ‘สื่อสังคมออนไลน์’ ซึ่งจําแนกรวบรวมกลุ่มความหลากหลายให้เชื่อมต่อเข้าหากันได้ตามรสนิยมและพฤติกรรมการใช้งานเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาได้เอง บนฐานรากของเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่าย การสื่อสารสมัยใหม่ ความเป็นเครือข่าย (Network) คือโครงสร้างสำคัญของสังคมที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของ ผู้บริโภคข้อมูล

……..ดังนั้น การพัฒนาของเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดสื่อดิจิทัล จนกลายมาเป็นสื่อสังคมออนไลน์นั้นพบว่า คำว่าสังคมออนไลน์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมหรือเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ในการพบปะพูดคุยกันหรือมีการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของ อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว (2557) ที่กล่าวว่าในมิติของนิเทศศาสตร์หรือการสื่อสารจะอธิบายความหมายชุมชนในเชิงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชน ไม่มุ่งเน้นไปในเรื่องของพื้นที่หรืออาณาบริเวณที่อยู่อาศัยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในมิติทางนิเทศศาสตร์ หรือการสื่อสารความหมายของ ‘ชุมชน’ ได้ถูกให้ความสำคัญไปที่กระบวนการสื่อสารหรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารนั้นเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญและเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่มีส่วนในการขับเคลื่อนชุมชน หรือสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย เช่นกัน

……..ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักถ้าหากจะกล่าวว่า พลังงานของมวลชนในขอบเขตเครือข่ายยุคดิสรัปชันจะสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและส่งเสียงไปยังสถานการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล รวมถึงเรียกร้องต่อความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น นั่นเพราะเมื่อไม่ได้ถูกจำกัดในด้านภูมิศาสตร์ แต่เป็นการรวมกันของบุคคลที่มีแนวคิดที่พ้องตรงกัน ความเข้มข้นของการส่งเสียงก็ย่อมมีพลังมากยิ่งกว่ายุคใด ๆ ที่ผ่านมา และเสียงที่ว่าก็มีผลต่อแบรนด์และการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

บทสรุป

……..การถูกคุกคามหรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ (SEXUAL HARASSMENT) เป็นพฤติกรรมการล่วงเกินหรือการทำร้ายกัน ในหลายรูปแบบตั้งแต่รุนแรงน้อย เช่น ‘การใช้ถ้อยคำร่วมกับการแสดงท่าทาง การคุกคามทางร่างกาย’ เช่น การจับลูบคลำอวัยวะต่าง ๆ ของตนเองหรือของเหยื่อ ไปจนถึงรูปแบบที่รุนแรง เช่น ‘การข่มขืน’ ซึ่งบ่อยครั้งที่คนในสังคมมักมองว่าเรื่องปัญหาการคุกคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่แท้จริงแล้วเป็นพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานส่วนบุคคล อีกทั้งยังส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม รวมถึงในหน้าที่การงานด้วย

……..ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวทางสังคมเครือข่ายของบุคคลที่มีประสบการณ์โดนทำร้ายในรูปแบบต่าง ๆ ได้ออกมารวมตัวกันและส่งต่อข้อมูลข่าวสารจากบุคคลไปยังมวลชน โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ อย่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้คนในสังคม รับรู้ รับทราบ และตระหนักถึงภัยจากการถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ จนเกิดเป็นกระแสที่โด่งดังในระดับโลก คือ #METOO หรือ ‘ฉันก็เหมือนกัน’ ซึ่งเป็นแคมเปญที่สร้างการรับรู้และใช้เป็นการแสดงออกของกลุ่มคน ที่ถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างชัดเจน

……..ทั้งนี้ สำหรับบริบทของสังคมไทย กระแส #METOO ยังเป็นเรื่องที่มีการรับรู้ไม่กว้างขวางมากนัก ผนวกกับผู้ถูกกระทำเองก็ยังไม่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวเพราะอับอาย กังวล และบอบซ้ำ ที่ต้องบรรยายเรื่องราวการถูก กระทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวให้ผู้อื่นได้รับทราบ บางส่วนก็หวาดกลัวและหวาดระแวงอิทธิพลอำนาจมืด บางส่วนที่กล้าเปิดเผยข้อมูลกลับถูกกระแสตีกลับจนได้รับผลกระทบเชิงลบเสียเองก็มี

……..“แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะมองข้าม ละเลย หรือปฏิเสธไม่รับรู้ต่อแนวคิดดังกล่าว กลับกันในโลกที่กำลังขับเคลื่อน ไปสู่ความเท่าเทียมและสิทธิของบุคคล การสนับสนุน และให้ความใส่ใจต่อความละเอียดอ่อนต่อประเด็นที่เปราะบางเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ยังทำให้โลกในย่างก้าวต่อไปมีความปลอดภัย และไม่ทำให้สตรีเพศเป็นเพียง ‘วัตถุทางเพศ ’ ที่ถูกหยิบฉวยใช้อย่างสะดวกมือดังเช่นที่เคยเป็นมา”

AUTHOR : อมรพรรณ สุนาพันธ์

Message us